เหรียญดีบุกกลันตัน ในพิพิธภัณฑ์ของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
เหรียญดีบุกกลันตัน ในพิพิธภัณฑ์ของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน
24/7/2561 / 94 / สร้างโดย Web Admin

คาบสมุทรมลายูเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่และเป็นศูนย์กลางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ ดินแดนแถบนี้เป็นเส้นทางการค้าของเรือจากจีน อินเดีย ลังกา อาหรับ จากหลักฐานทางโบราณคดี ระบุไว้ว่าคาบสมุทรมลายูมีเมืองที่เจริญรุ่งเรืองหลายแห่ง มีกลุ่มชนต่างๆ เปลี่ยนกันเข้ามาอาศัย มีการจัดตั้งเป็นรัฐหรืออาณาจักร มีอาณาเขต และอำนาจในการปกครอง เมืองที่เจริญรุ่งเรืองในคาบสมุทรมลายูในอดีต เช่น มะละกา ปาหัง ตรังกานู ปะลิศ เปรัค เกดะห์ กลันตัน เมืองต่างๆ เหล่านี้ ต่างผลิตเงินตราของตนเอง เพื่อนำมาใช้ในการค้าขาย และแลกเปลี่ยนในระบบเศรษฐกิจ

กลันตัน เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมลายู ทิศเหนือจดประเทศไทยที่อำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง อำเภอสุไหงโก - ลก และอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสของไทย ทิศใต้จดรัฐปาหัง ทิศตะวันออกจดรัฐตรังกานูและทะเลจีนใต้ และทิศตะวันตกจดรัฐเปรัค กลันตันเป็นรัฐมลายูที่มีความสัมพันธ์กับสยามมาเป็นเวลายาวนานในรูปแบบต่างๆ นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์

 

6.1

 

 

"กลันตัน” ชื่อนี้มีมาแต่โบราณ
ชื่อ "กลันตัน” ได้พบครั้งแรกในจารึกเมืองกาลาสัน ค.ศ. 812 ซึ่งได้บรรยายถึงอาณาเขต ของอาณาจักรศรีวิชัย โดยกล่าวถึงกลันตันว่าเป็นเมืองประเทศราชเมืองหนึ่งของอาณาจักร และพงศาวดารอาณาจักรมัชปาหิต ได้กล่าวถึงดินแดนคาบสมุทรมลายูว่ามีสถานที่สำคัญหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ เมืองกลันตัน นอกจากนี้แล้วชื่อกลันตันยังปรากฏในบันทึกชื่อ Dao Yi Zhilue《岛夷誌略》ของพ่อค้าชาวจีน Wang Da Yuan (汪大渊) ที่เข้ามาค้าขายในทะเลจีนใต้เมื่อ ค.ศ. 1349 โดยได้กล่าวถึงเมือง Gu Lan Dan (古兰丹) และต่อมาในปี ค.ศ.1621 Mao Yuan Yi (茅元儀) ได้เรียบเรียงบันทึก Wu Bei Zhi《(武備志》ได้กล่าวถึงเมือง Ji lan Dan Gang (吉兰丹)สันนิษฐานว่าเป็นเมืองกลันตันแต่การเรียกชื่ออาจจะไม่เหมือน ในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้วพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราชยังได้ระบุว่ากลันตันเป็นหนึ่งใน 12 เมืองนักษัตร ที่เป็นเมืองขึ้น โดยกำหนดให้เมืองกลันตันมีตราสัญลักษณ์นักษัตรรูปเสือประจำปีขาล

จากหลักฐานและเอกสารทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่า "กลันตัน” มีชื่อปรากฏมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในคาบสมุทรมลายูและมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอาณาจักรมัชปาหิตและเมืองนครศรีธรรมราช

 

6.2

เหรียญดีบุกกลันตัน
กลันตันเริ่มมีบทบาทชัดเจนทางประวัติศาสตร์ โดยมีพัฒนาการทางการเมืองจากชุมชนท้องถิ่นกลายเป็นรัฐเมื่อ ลง ยุนุส (long Yunus) ผู้สืบตระกูลจากปัตตานี ได้ปกครองกลันตันสืบต่อจากหัวหน้าท้องถิ่นเดิม ในปี พ.ศ. ๒๓๑๙ และได้สถาปนาราชวงศ์กลันตันขึ้น ต่อมาเมื่อ ลง ยุนุส สิ้นพระชนม์ ลง มูฮัมหมัด พระโอรส ได้ขึ้นปกครองกลันตัน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสุลต่านมูฮัมหมัดที่ ๑ นับเป็นผู้ปกครองกลันตันองค์แรกที่ใช้ยศสุลต่าน

ในช่วงที่กลันตันยังเป็นเพียงชุมชนท้องถิ่นอยู่นั้น สันนิษฐานว่ากลันตันมีการใช้เงินตราเช่นเดียวกับดินแดนต่างๆ ในแหลมมลายู เช่น เงินกลมแบนจารึกภาษาอารบิก – ยาวี เหรียญต่างประเทศ เช่น สเปน เม็กซิกัน อีแปะจีน ซึ่งได้มาจากการติดต่อค้าขาย นอกจากนี้ยังพบว่ามีการผลิตเงินตราท้องถิ่นขึ้น แต่ไม่แพร่หลายมากนัก จนกระทั่งในรัชกาลสุลต่านมูฮัมหมัดที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญกลันตันขึ้น ทำด้วยโลหะ ชนิดต่างๆ เช่น ทองคำ เงิน ดีบุก และมีรูปทรงที่หลากหลาย สันนิษฐานว่าเหรียญกลันตันได้ผลิตขึ้นใช้ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๓ - ๒๓๔๓ซึ่งในระหว่างนั้น กลันตันได้ตกอยู่ในฐานะเมืองประเทศราชของสยาม

เหรียญกลันตันที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ "เหรียญดีบุก” หรือ "ปีติส” (Pitis) ซึ่งแปลว่าเงินในภาษามลายู เป็นเงินปลีก ที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในกลันตันและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ตรังกานู ปัตตานี

เหรียญดีบุกกลันตันส่วนใหญ่ใช้แม่พิมพ์เหรียญแบบต้นไม้ (Pitis Tree) ในการผลิต โดยนำแบบอย่างกรรมวิธีการผลิตเหรียญลักษณะเช่นนี้มาจากชาวจีนในช่วงราชวงศ์ถัง ตัวแม่พิมพ์ทำมาจากดินเหนียวหรือหิน และต่อมาได้มีการใช้แม่พิมพ์ที่ทำมาจากทองแดง

2.1.1

 

ชาวเมืองกลันตันนิยมนำเหรียญดีบุกกลันตันมาร้อยรวมกันเป็นพวง เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายชื้อขายสินค้า โดยเงินเหรียญดีบุกกลันตัน จำนวน ๑ เหรียญ เรียกว่า ปีตีส (Pitis) จำนวน ๑๕ เหรียญ เรียกว่า กูปัง (kupang) เมื่อเทียบราคากับเงินดอลลาร์ เงิน ๑ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา สามารถแลกเหรียญดีบุกกลันตันได้ถึง ๔๘๐ เหรียญ โดยในราว พ.ศ. ๒๔๕๐ พบว่ามีเหรียญดีบุกกลันตันประมาณ ๖๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคิดเป็นจำนวนถึง ๒๘,๘๐๐,๐๐๐ เหรียญ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเกี่ยวกับเงินตราในเมืองกลันตันในครั้งเสด็จพระราชดำเนินตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ความว่า

"เงินตราที่ใช้ในเมืองกลันตันนั้น ใช้เงินเหรียญแมกซิกันเป็นใหญ่ มีเบี้ยดีบุกทำด้วยตะกั่วคล้ายแปะจีนกลม ศูนย์ไส้นิ้ว ๑ กับกระเบียดครึ่ง รูกลางกว้างศูนย์ไว้กึ่งนิ้ว มีอักษรแขกทั้ง ๒ หน้า ๖๐ เบี้ยเป็นก้อน ๔ ก้อนเป็นโขก ๒ โขก เป็นเหรียญแมกซิกัน แต่ชาวเมืองนั้นซื้อขายกันมักเลือกเหรียญเงิน ถ้านอกจากเงินเหรียญมีตราปั้น คือ เงินเหรียญเมืองสเปนมักจะเรียกค่าแลกเงินเหรียญอีกเหรียญละ ๔๕ เบี้ยเงินบาทก็ใช้ได้แต่ไม่คล่อง”

"โขก” และ "ก้อน” เป็นมาตราเงินที่ใช้กันในภาคใต้ตั้งแต่นครศรีธรรมราช ลงไปจนถึงปัตตานี และ กลันตัน พบในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงก่อนการตราพระราชบัญญัติมาตราทองคำ พ.ศ. ๒๔๕๑ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบดังนี้

๑๕ สตางค์ เป็น ๑ ก้อน

๔ ก้อน เป็น ๑ โขก

๒ โขก เป็น ๑ เหรียญ (เหรียญนกเม็กซิกัน เหรียญจีน หรือเหรียญมลายู)


เหรียญดีบุกกลันตันต้องยกเลิกการผลิตเมื่อสยามได้ทำสนธิสัญญา Anglo-Siamese โดยโอนอำนาจเหนือดินแดนกลันตันให้กับอังกฤษ เพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธินอกอาณาเขต รัฐกลันตันจึงตกไปอยู่ใต้อำนาจการปกครองของอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ต่อมาอังกฤษได้นำระบบเงินตราแบบอาณานิคมของอังกฤษในพื้นที่ช่องแคบมะละกา (Straits Settlements) เข้ามาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เหรียญเงินชนิดราคา ๑, ๑๐, ๒๐, ๕๐ เซ็นต์ จึงได้เข้ามาแทนที่ เหรียญดีบุกกลันตันจึงค่อยๆ หายไปจากระบบเศรษฐกิจคาบสมุทรมลายู

สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินได้คัดเลือกเหรียญดีบุกกลันตันเพื่อจัดแสดง ณ ศาลาธนารักษ์ ๒ ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาหลังเก่า ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา และโครงการพัฒนาและที่ราชพัสดุแปลงอาคารธนาคารแห่งประเทศไทย จังหวัดขอนแก่น (เดิม) ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในการดูแลของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนารูปแบบการจัดแสดงให้มี ความสวยงามและทันสมัย โดยใช้สื่อเทคโนโลยีประกอบการจัดแสดง และนำทรัพย์สินประเภทเงินตราโบราณ เหรียญต่างประเทศโบราณ เหรียญกษาปณ์ เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เหรียญที่ระลึก มาจัดแสดง ซึ่งจะเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านเหรียญกษาปณ์และเงินตราที่สำคัญแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในส่วนภูมิภาค สามารถจำแนกรูปแบบและรายละเอียดของเหรียญดีบุกกลันตันที่จัดแสดง ได้ดังนี้

๑. เหรียญดีบุกกลันตันสมัยสุลต่านมูฮัมหมัดที่ ๒ (Sutan Muhammad II พ.ศ. ๒๓๘๑ – ๒๔๒๙) สันนิษฐานว่าสุลต่านได้อนุญาตให้ชาวจีนผลิตขึ้น เป็นเหรียญกลมแบน มีลักษณะคล้ายเหรียญอีแปะของจีน มีรูตรงกลางเหรียญ มีข้อความจารึกด้วยภาษาอาหรับทั้งสองด้าน มีข้อความบอกปีที่ผลิต มี ๒ รูปแบบ คือ

๑.๑ เหรียญดีบุกกลันตัน ฮิจเราะห์ศักราชที่ ๑๒๕๖ (พ.ศ.๒๓๘๓)

3.1 

ด้านหน้า มีข้อความว่า "Khalifatul Mukminin” หมายความว่า ราชาผู้มีศรัทธาในพระอัลเลาะห์ ด้านหลังมีข้อความว่า "Karam Duriba Sanat 1256” หมายความว่า ผลิตในขึ้นในปีฮิจเราะห์ศักราช ที่ ๑๒๕๖ (พ.ศ.๒๓๘๓) เหรียญรูปแบบนี้มีความแตกต่างจากเหรียญสมัยอื่นๆ คือ รูตรงกลางเหรียญเป็นรูปสี่เหลี่ยม และลวดลายขอบเหรียญเป็นเส้นรอบวงสองเส้น

4.1

 ด้านหน้ามีข้อความ "Dama Sama mulka Daulat Kelantan” หมายความว่า "ขอให้กลันตันเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนสืบไป” ด้านหลังมีข้อความว่า "Duriba Fi jumada’l Akhir Sanat ๑๓๐๐” หมายความว่าผลิตในเดือนญามาดิล เอาวัล (เดือนที่ ๕) ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ ๑๓๐๐

5.1

ด้านหน้ามีข้อความ "Dama Sama mulka Daulat Kelantan” หมายความว่า "ขอให้กลันตันเจริญรุ่งเรืองยั่งยืนสืบไป” ด้านหลังมีข้อความว่า "Duriba Fi rabiui Akhir Sanat ๑๓๐๐” หมายความว่า ผลิตในเดือนรอบิอุล ฮาเคร (เดือนที่ ๔) ปีอิจเราะห์ศักราชที่ ๑๓๐๐

๒. เหรียญดีบุกสมัยสุลต่านมันซูร์ (Sultan Mansur พ.ศ.๒434 – ๒๔43) เป็นเหรียญกลมแบนมีรูตรงกลาง ด้านหน้ามีข้อความภาษาอาหรับและภาษายาวี ระบุเป็นเงินตราของเมืองกลันตัน ด้านหลัง มีข้อความภาษาอาหรับระบุเดือนและปีที่ผลิตเหรียญ 

6.3

ด้านหน้ามีข้อความ "Adim MulKahu Belanjaan Kerajaan Kelantan หมายความว่า "ขอให้พระอัลเลาะห์คุ้มครองให้รัฐกลันตันมั่นคงสืบไป” ด้านหลังมีข้อความว่า "Sunia Fi jamadul Awal Sanat 1314” ผลิตในเดือนญามาดิล เอาวัล (เดือนที่ ๕) ปีอิจเราะห์ศักราชที่ ๑๓๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๙)

๓. เหรียญสมัยสุลต่านมูฮัมหมัดที่ ๔ (Sultan Muhammad IV (พ.ศ.๒๔๔๓ – ๒๔๖๓) เป็นเหรียญกลมแบน มีรูตรงกลาง ด้านหน้ามีข้อความภาษาอาหรับและภาษายาวี ระบุเป็นเงินตราของเมือง กลันตัน ด้านหลังมีข้อความภาษาอาหรับระบุเดือนและปีที่ผลิตเหรียญ

7.1

 

เหรียญดีบุกกลันตัน เป็นเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่มีมูลค่าต่ำที่สุดในระบบเศรษฐกิจของกลันตันตั้งแต่การก่อตั้งรัฐกลันตันจนกระทั่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ เปรียบได้กับเหรียญกษาปณ์ดีบุก ตราพระแสงจักร – พระมหามกุฎ ชนิดราคาโสฬส ซึ่งมีค่าเท่ากับ ๕๐ หอยเบี้ยซึ่งเป็นเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่มีมูลค่าน้อยที่สุดของสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

นอกจากมูลค่าจากตัวเหรียญในระบบเศรษฐกิจแล้ว เหรียญดีบุกกลันตันยังมีคุณค่าในแง่มุมทางวัฒนธรรม จะเห็นได้จากข้อความภาษาอาหรับและภาษายาวีบนเหรียญได้สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบ การปกครองของกลันตัน ความหวังและความศรัทธาในศาสนา เมื่อเวลาผ่านไปเหรียญดีบุกกลันตันถูกแทนที่ด้วยเงินตราในยุคอาณานิคม และเงินตราประเทศมาเลเซีย ถึงแม้เวลาจะทำให้มูลค่าของเหรียญลดน้อยลง แต่เวลาก็ทำให้เหรียญดีบุกกลันตันมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เพิ่มมากขึ้น

 


*บทความเรื่องนี้สำเร็จลงได้ผู้เขียนขอขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์มูหำหมัด สาแลบิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ให้ความอนุเคราะห์ ในการแปลความหมายจารึกภาษามลายูบนเหรียญดีบุกกลันตัน

** ภัณฑารักษ์ชำนาญการ ส่วนจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

Patrick, Ghost of the Past in Southern Thailand: Essays on the History and Historiography of Patani, (Singapore: Nus Press.), P.๖๓.

Bank Negara Malaysia, Malaysian numismatic heritage (Malaysia: The Money Museum and Art Centre, ๒๐๐๕), P.๑๕๖.

W.A.G., Kelantan, (Glasgow: jame maclehose and sons,๑๙๐๗), P.๖๑.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช, ชีวิวัฒน์ เที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ ๗ ,พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในในงาน ร.อ. พิพัฒน์ พิพัฒน์สรการ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ พระนคร: คุรุสภาพระสุเมรุ, ๒๕๑๐), หน้า ๘๓.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๒, (จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. ๒๕๔๒), หน้า ๘๘๓.

บรรณานุกรม

ชัยวุฒิ พิยะกูล.เงินตราภาคใต้: พัฒนาการและวัฒนธรรมการใช้. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ. ๒๕๕๔.

ธีรพร พรหมมาศ.พัฒนาการทางการเมืองของรัฐกลันตันและตรังกานูตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ถึง ค.ศ.๑๙๔๑. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. นครปฐม : ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๕.

นวรัตน์ เลขะกุล.หอยเบี้ยที่เป็นเงินตรา. กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์. ๒๕๕๘.

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช.ชีวิวัฒน์ เที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ ๗.พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน ร.อ. พิพัฒน์ พิพัฒน์สรการ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐. พระนคร: คุรุสภาพระสุเมรุ. ๒๕๑๐.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม ๒.จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. ๒๕๔๒.

Bank Negara Malaysia. Malaysian numismatic heritage. Malaysia: The Money Museum and Art Centre. ๒๐๐๕.

Patrick.Ghost of the Past in Southern Thailand: Essays on the History and Historiography of Patani.Singapore: Nus Press. ๒๐๑๓.

W.A.G. Kelantan. Glasgow: jame maclehose and sons. ๑๙๐๗.

汪大渊《岛夷志略》西华师范大学, 牡丹江师范学院学报, 2015年01期。
(หวางต้าหยวน.ต๋าวอี๋จื่อเลว่.ซีหัวเหวินเหวินต้าเสว, หมู่ตานเจียงฉือเฟิ่นเสวย่วนเสวป้าว. ๒๐๑๕ เหนียน ๐๑ ชี) (บันทึกการเดินทางผ่านหมู่เกาะในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา)

茅元儀《武備志》, 高等学校中英文图书数字化国际合作计划,北京: 北京大学图书馆。
(หมาวหย่วนอี้.อู่เป่ยจื่อ. กาวเติ่งเสวเสี้ยวจงอินเหวินถูชูซู่จือฮว่ากั๋วจี้เหอจั้วจี้ฮว่า, เป่ยจิง: เป่ยจิงต้าเสวถูชูกว๋าน) (คัมภีร์ทางทหารของจีน)

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
ของขวัญปีใหม่ 2566
22/12/2565 / 76
งานกาชาด ประจำปี 2565
13/12/2565 / 32
ออกร้านจำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญในงาน "Thailand Friendly Design Expo 2022 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6"
2/12/2565 / 83