เหรียญที่ระลึกเนื่องในการพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
เหรียญที่ระลึกเนื่องในการพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
24/7/2561 / 51 / สร้างโดย Web Admin

คนไทยนับถือหลักคำสอนในพุทธศาสนาเป็นแนวทางหลักในการดำรงชีวิตถูกถ่ายทอดผ่านขนบธรรมเนียมประเพณีมาช้านาน การบรรพชาเป็นประเพณีนิยมในพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่มีมาแต่สมัยพุทธกาล โบราณถือว่า การที่จะได้เล่าเรียนอ่านเขียนได้ต้องอาศัยวัดเป็นสถานที่เรียน ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมา จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์
 
ต้นรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า พระราชโอรสองค์ใหญ่เจริญพระชนมพรรษาถึงคราวที่ต้องทรงผนวชเป็นสามเณร จึงมีพระราชประสงค์ให้จัดงานพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อทรงศึกษาพระธรรม คำสอนของพุทธศาสนา ตามขัตติยราชประเพณีที่มีสืบมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาที่มาและสาเหตุของการใช้ "หมาย” แทนเงิน

 

1 3

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๔๐ ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎ ราชกุมาร พระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการแต่งตั้งตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาทแทนตำแหน่ง พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลไม่เหมาะสมกับ กาลสมัย และอาจทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจสับสน และมีพระราชดำริว่า พระราชอิสริยยศ "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช” ซึ่งเรียกว่า "สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” ที่ตั้งขึ้นไว้แต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เป็นตำแหน่งที่สอดคล้องตามแบบอย่างการสืบสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ในนานาอารยประเทศที่มีการแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นมกุฎราชกุมารดำรงตำแหน่งรัชทายาท ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาพิไชยมงคลลงสรงสนานเฉลิมพระปรมาภิไธยสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อ จ.ศ. ๑๒๔๘ ซึ่งตรงกับวันที่๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๙ มีพระนามตามจารึกสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ อดิศวรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรสมมติเทพยวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูริย์ขัตติยสันตติวงศ์ อุกฤษฐพงศ์วโรภโตสุชาต ธัญญลักษณวิลาสวิบุลยสวัสดิ์สิริวัฒนราชกุมาร”

การพระราชพิธีทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ผนวช

 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงเข้าพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อเจริญพระชนมายุ ๑๔ ชันษา พระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงผนวชเป็นสามเณร เพื่อให้ทรงศึกษาเล่าเรียนในหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาตาม ราชประเพณีสืบมา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในการทรงผนวชเป็นสามเณรของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะผู้ใหญ่น้อย รวม ๒๐ รูป อีกทั้งเชิญพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ มาร่วมในการพระราชพิธีครั้งนี้ด้วย โดยมีพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระประธานและพระอุปัชฌาย์ จากนั้นเสด็จฯ ไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารตามบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า

"เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมาร เปนการใหญ่ มีสมโภชแลแห่ไปทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วฉลองที่นั่น แต่ในคืนนั้น เสด็จประทับแรม ณ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม บ่ายแห่งวันรุ่งขึ้น เสด็จมาประทับวัดนี้ เสด็จอยู่ที่พระปั้นหยา ออกพรรษาแล้ว ทรงถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักกบัพพ์ โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดช ทำสำเภาเป็นกัณฑ์เทศน์ ทรงผนวชอยู่ ๕ เดือน ลาผนวช”

การจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกในวาระที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหา วชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จทรงผนวช นับเป็นพระราชพิธีครั้งยิ่งใหญ่ ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ในชุดเครื่องแต่งกายเต็มยศที่เข้ามาร่วมพระราชพิธี ในงานได้จัดให้มีการประกวดตั้งเครื่องโต๊ะลายคราม เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการได้มีโอกาสพบปะทำความรู้จัก โดยจัดตั้งโต๊ะตามระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชทานเป็นรางวัลประกวดตั้งเครื่องโต๊ะเป็นเหรียญที่ระลึกในการทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่เรียกกันว่า เหรียญจับโป้ย ซึ่งย่อมาจากคำว่า จับโป้ยล่อฮั่น เป็นภาษาจีน แปลว่า ๑๘ อรหันต์ ตามลักษณะรูปแบบที่ปรากฏบนเหรียญ เหรียญที่ระลึกจับโป้ยล่อฮั่น สร้างทั้งเหรียญเงินกะไหล่ทอง เหรียญ เงิน และเหรียญทองแดง กล่าวกันว่า เข้าพิธีพุทธาภิเษก โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์

 

แจกน

 

 

 

ลักษณะและความหมาย

เหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีทรงพระผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุราชกุมาร มีลักษณะรูปกลมแบน เจาะรูสี่เหลี่ยมตรงกลาง วงขอบนอกเรียบ ติดห่วงบนและล่าง บางเหรียญไม่มีห่วง

ชนิด เงินกะไหล่ทอง เงินตะทอง เงิน ทองแดง

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๔ มิลลิเมตร

 
 

นก

 

 

ด้านหน้าจำลองรูป พระอรหันต์ 18 องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษตามคติในพระพุทธศาสนานิกายมหายานของจีน ซึ่งเรียกว่า "จับโป้ยล่อฮั่น”ประกอบด้วย

พระอรหันต์องค์ที่ ๑ ชื่อ ปินโฑล ภารัทวาช ลักษณะของท่านเป็นคนผอมเห็นซี่โครง บ้างทำท่ายืน บ้างก็นั่ง มือถือหนังสือ อีกมือถือบาตร หรือมือทั้งสองถือหนังสือ หรือวางสองมือบนเข่า ข้างกายด้านขวาอาจมีไม้เท้า

พระอรหันต์องค์ที่ ๒ ชื่อ เกียนกเกีย ฮวดเช้า กนกวัจฉ เป็นผู้มีความสามารถในการรู้แจ้ง ในลัทธิธรรมต่างๆ ลักษณะของท่านคือ นั่งห้อยเท้าขวา มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายวางที่ฝ่าเท้าซ้าย

พระอรหันต์องค์ที่ ๓ ชื่อ เกียเนกเกีย โปลิตั้ว กนกภารัทวาช มีลักษณะเป็นคนแก่ผมยาว นั่งยกเท้าซ้ายขึ้นจากรองเท้า มือขวาวางบนเข่า มือซ้ายอยู่ข้างหู

พระอรหันต์องค์ที่ ๔ ชื่อ โซปินโท้ สุปินฑะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เมื่ออายุ 120 ปี มีลักษณะเป็นคนแก่นั่งสมาธิ มือถือม้วนหนังสือ บ้างก็เป็นรูปนั่งมีบาตรและกระถางธูปอยู่ด้านข้าง มือซ้ายถือหนังสือ มือขวาทำมุทรา (ท่าดีดนิ้ว) เป็นเครื่องหมายแห่งการเห็นแจ้งในธรรม หรือนั่งยกมือขวาหงาย

พระอรหันต์องค์ที่ ๕ ชื่อ เนกกือโล้ นกุล ชอบอยู่โดดเดี่ยว มีลักษณะเป็นรูปพระนั่งห้อยเท้า มีพังพอนอยู่ข้างๆ หรือมีรูปกบสามขาอยู่ใต้รักแร้ บางทีมีเด็กน้อยอยู่ข้าง หรือแบมือทั้งสองข้าง

พระอรหันต์องค์ที่ ๖ ชื่อ โปโทโล้ ภัทร บ้างว่าท่านเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า บ้างว่ามีสกุลสูง รูปท่านมีเสืออยู่ข้างๆ แสดงว่าเป็นผู้ปราบเสือได้ บางที่เป็นรูปคิ้วยาวทำท่าพนมมือ แต่ไม่มีเสือ

พระอรหันต์องค์ที่ ๗ ชื่อ เกียลีเกีย กาลิก เป็นที่นับถือแห่งพระเจ้าพิมพิสาร รูปที่สร้างมีลักษณะกำลังคลี่ม้วนหนังสือ หรือกำลังเข้าฌาน มือหนึ่งถือใบไม้ หรือบางรูปเป็นชายชรา คิ้วยาวจรดดินต้องใช้มือถือไว้ บ้างก็ทำท่าถือฉาบทั้งสองข้าง

พระอรหันต์องค์ที่ ๘ ชื่อ ฮวดซือล่อฮุดโตโล้ วัชรบุตร รูปของท่านมีลักษณะมีขนดก ผอมเห็นซี่โครง นั่งห้อยเท้า ถือไม้เท้าอักขระ เป็นไม้เท้าที่บนยอดมีโลหะทำช่องเป็นวงกลม สำหรับร้อยแหวนโลหะ เมื่อเคาะจะเกิดเสียง เมื่อสัตว์ได้ยินจะตกใจแล้วหนีไป

พระอรหันต์องค์ที่ ๙ ชื่อ ซูปุดเกีย สุปากะ มีลักษณะอยู่ในท่ามือถือหนังสือหรือพัด มีรูปพระอรหันต์ขนาดเล็กอยู่บนบ่าขวาหรือยู่ข้าง หรือทั้งสองมือถือประคำ

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๑ ชื่อ ปันโตเกีย (มหา) ปันถก มีลักษณะท่านั่งใต้ต้นไม้ถือหนังสือ หรือเข้าฌานกุมมือ บางที่เป็นรูปกำลังทรมานพญานาคให้เข้าอยู่ในบาตร หรือรูปนั่งบนหลังสิงโต

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๑ ชื่อ ล่อเฮาลี้ ราหุล ท่านเป็นพระพุทธชิโนรส รูปท่านบ้างทำเป็นผู้มีศีรษะใหญ่โต ตาโต จมูกเป็นขอ บ้างก็เป็นรูปคนธรรมดา มือทั้งสองข้างถือเจดีย์

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๒ ชื่อ นาเกียจี้น้า นาคเสน อยู่ในท่านั่ง ยกมือซ้ายสูงเพียงหู มือขวาวางอยู่บนเข่า

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๓ ชื่อ ยินกิดโท้ อิงคท เป็นมหาสาวกที่ร่างกายสะอาด มีกลิ่นหอม มีลักษณะเป็นรูปพระอ้วนสมบูรณ์ ร่าเริง แต่มีบ้างที่ทำรูปของท่านเป็นคนแก่ถือไม้เท้า หรือหนังสือ หรือถือบาตรก็มี

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๔ ชื่อ ฮวดล่อโพซือ วันวาสี รูปของท่านนั่งหลับตาอยู่ปากถ้ำ บ้างถือหนังสือ หรือไม่ก็ยกนิ้วทำมุทรา

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๕ ชื่อ โอชิโต อชิตะ มีลักษณะเป็นคนแก่ ขนคิ้วยาว นั่งห้อยเท้า มือวางบนเข่า ที่หน้าอกมีรูปหน้าคน

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๖ ชื่อ จูเต้ปันโตเกีย จูฑะปันถก เป็นมหาสาวกที่เดิมทีมีปัญญาโง่ทึบ แต่ต่อมาสามารถบรรลุอรหัตผล รูปนั่งห้อยเท้า มือขวาถือจอกมีนกกำลังจิบน้ำ มือซ้ายถือลูกแก้ว

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๗ ชื่อ เค่งอิ๋ว นนทิมิตร ผู้มีพระอรหันต์เป็นบริวารมากที่สุดถึง 1,700 รูป มีลักษณะของท่านเป็นรูปขี่มังกร มือซ้ายถือลูกแก้ว

พระอรหันต์องค์ที่ ๑๘ ชื่อ ปินท่อโล่ ปิณโฑล พระอรหันต์องค์สุดท้ายใน 18 เซียน เป็นพระอรหันต์ปราบมังกร

พระอรหันต์ ๑๘ องค์ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษในพระพุทธศาสนาหรืออริยบุคคลชั้นสูงสุดคือ บรรลุอรหันต์ผล ชาวจีนเรียกว่า จับโป้ยล่อฮั่น ซึ่งเป็นความเชื่อทางลัทธิมหายานของฝ่ายจีน บำเพ็ญเพียรภาวนาจนกระทั่งสำเร็จเป็นเซียนผู้วิเศษ มีทั้งหมด ๑๘ องค์

ด้านหลังกลางเหรียญเจาะรูสี่เหลี่ยม มีอักษรไทยประดิษฐ์เลียนแบบอักษรจีนทั้งสี่ด้าน อ่านจากด้านบนลงล่างจะได้ความว่า "การทรงพระผนวช” ที่ด้านขวาจะเป็นอักษรย่อ "ส, พ, บ, ร, อ,” ย่อมาจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ด้านซ้ายเป็นปี "ปี ร.ศ. ๑๑๐”

การพระราชทานเหรียญที่ระลึก

เหรียญที่ระลึกการพระราชพิธีทรงผนวชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ หรือ เหรียญจับโป้ยล่อฮั่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำไปพระราชทานในงานประกวดการตั้งเครื่องโต๊ะลายคราม ซึ่งเป็นเครื่องบูชาแบบจีนและไทยที่นิยมมาประยุกต์ใช้เป็นพุทธบูชา และตั้งรับเสด็จในพระราชพิธีหรือโอกาสสำคัญต่างๆ ในอดีตในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชนิยมศิลปกรรมแบบจีน ได้มีการสั่งเครื่องถ้วยลายครามเข้ามาใช้และถวายตามวัดวาอารามต่างๆ จนกระทั้งถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เครื่องถ้วยลายครามจากจีนได้รับนิยมอย่างมากจนถึงขึ้นมีการตั้งโต๊ะประกวดกันอย่างแพร่หลาย และมีการพระราชทานรางวัลเป็นเหรียญที่ระลึกแบบต่างๆ ซึ่งนำมาให้เป็นรางวัลในการประกวดโต๊ะเครื่องลายครามจากหลักฐานในจดหมายเหตุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๓๙๔ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ เจ้านาย จัดโต๊ะเครื่องบูชาตั้งในบริเวณพระราชมณเฑียรและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีจำนวนมากนิยมการสร้างและพระราชทานเหรียญที่ระลึกในการตั้งโต๊ะมีมาตั้งแต่ ร.ศ. ๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) โดยมีคณะกรรมการ ซึ่งเรียกกันเวลานั้นว่า "กอมมิตตี”เป็นผู้ตัดสิน ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติและข้อบังคับในการตัดสินเครื่องโต๊ะรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ ประกาศเมื่อ ๑๖ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๐๙

กล่าวได้ว่า การสร้างเหรียญที่ระลึกการพระราชพิธีทรงพระผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุราชกุมาร เป็นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีรูปแบบลวดลายตามความเชื่อของจีนนิกายมหายานปรากฏบนเหรียญ ใช้สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึกในงานประกวดตั้งเครื่องโต๊ะ ซึ่งมีการจัดประกวดเนื่องในงานพระราชพิธีสำคัญๆ จนได้ชื่อว่า เป็นยุคทองของการประกวดเครื่องโต๊ะ นอกจากเหรียญ ที่ระลึกจะพระราชทานให้ผู้ที่ชนะการประกวดและกรรมการแล้ว ยังถูกนำมาประดับตกแต่งบนเครื่องโต๊ะอีกด้วย ปัจจุบันถือเป็นเหรียญที่ระลึกที่หายาก เป็นที่ต้องการของนักสะสมเหรียญ เพราะเป็นเหรียญที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสะท้อนเห็นถึงการรับเอาอิทธิพลและวัฒนธรรมของจีนเข้ามาในสมัยนั้นเป็นอย่างดี

 

 


*ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์

ราชกิจจานุเบกษา, คำประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย. เล่ม ๓, หน้า ๓๗๐.

กรมศิลปากร, กรมพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัตนโกสินทร์, กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๖, หน้า ๒๐๑

พระยาอนุมาราชธน.จับโป๊ยล่อหั่น. มมท. ๒๕๑๓, หน้า ๒๖-๖๘

สามารถ เวสุวรรณ์. เครื่องโต๊ะสยาม. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด. ๒๕๕๖ หน้า ๒๑๖ - ๒๑๗

 

เอกสารอ้างอิง

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.เรื่องเครื่องโต๊ะแลถ้วยปั้น. พระนคร : โรงพิมพ์ไทย. ครั้งแรก. ๒๔๖๐

กรมธนารักษ์.เหรียญที่ระลึกกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๕๒๕. กรุงเทพฯ : ศรีบุญพับลิ เคชั่น. ๒๕๒๕

ชัชวาล วูวนิช.เหรียญบนแผ่นดิน ร.๕. กรุงเทพฯ : คอมมอนเซนซ์ ดีไซน์แอนด์พริ้นท์. ๒๕๔๙

พระยาอนุมาราชธน.จับโป๊ยล่อหั่น. มมท. ๒๕๑๓

สามารถ เวสุวรรณ์.เครื่องโต๊ะสยาม. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด. ๒๕๕๖ P.๒๑๖ - ๒๑๗. ๒๕๕๖

ราชกิจจานุเบกษา, กรุงเทพมหานครในพระบรมมหาราชวัง. การทรงพระผนวช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเปนสามเณร.เล่ม ๘ วันที่ ๒๐ กันยายน ร.ศ. ๑๑๐. หน้า ๒๒๑ - ๒๒๗

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง line
ของขวัญปีใหม่ 2566
22/12/2565 / 76
งานกาชาด ประจำปี 2565
13/12/2565 / 32
ออกร้านจำหน่ายเหรียญและผลิตภัณฑ์เหรียญในงาน "Thailand Friendly Design Expo 2022 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6"
2/12/2565 / 83